เมนูต้มโคล้งมีรสชาติที่ออกไปทางเผ็ดร้อน ลิ่นเครื่องหอมชัดเจนต่างจากเมนูต้มอื่นๆส่วนของวัตถุดิบต่างๆ ไปย่างให้หอมเสียก่อน แล้วจึงนำมาประกอบอาหาร ทานกะบข้าวสวยร้อนๆอร่อยแน่นอนค่ะ

ส่วนผสมและสัดส่วน
- ปลาหั่นเป็นชิ้นๆ ไม่ต้องเล็กมาก 1 ตัว
- พริกขี้หนูสับ และ พริกขี้หนูบุบ 10 เม็ด
- ข่าหั่นแว่น 4 แว่น
- ตะไคร้ซอย 1 ต้น
- ใบมะกรูด 3 ใบ
- ใบกะเพรา 10 ใบ
- ผักชีฝรั่งซอย 1 ต้น
- หอมแดง 2 หัว
เครื่องปรุง
- น้ำมะขามเปียก 15 กรัม
- น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีปรุง
- นำเนื้อปลา หอมแดง ข่า ตะไคร้ มาย่างให้หอมก่อน ส่วนเนื้อปลาน้นย่างให้หนังด้านนอกเปลี่ยนเป็นสีสวยน่ารับประทาน
- ตั้งหม้อบนเตา ใส่น้ำ ตามด้วยข่า ตะไคร้ หอมแดง พริกขี้หนูทั้งสับและบุบลงไปต้ม
- พอน้ำเดือดใส่น้ำมะขามเปียกและน้ำปลา สักพักใส่เนื้อปลาย่าง ต้มต่อให้เดือด
- ใส่ใบมะกรูด ผักชีฝรั่ง และใบกะเพรา ต้มอีกสักครู่ ปิดเตา เติมน้ำมะนาว ชิมรสตามชอบ แล้วตักใส่ชามได้เลยค่ะ
เคล็ดลับน่ารู้
“ต้มโคล้ง” กับ “ต้มยำ” ต่างกันอย่างไร ?
ต้มยำมีหลายชนิด แต่ละชนิดของต้มยำจะแบ่งตามเนื้อสัตว์ที่ใส่และเครื่องปรุงบางชนิด เช่น
ต้มยำน้ำใส จะใส่ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกขี้หนูสวน ส่วนมากทำกันง่ายๆในครัวเรือน รสจะไม่จัดมาก การปรุงรสใช้เพียงน้ำมะนาว น้ำปลา
ต้มยำน้ำข้น ส่วนมากจะเป็นต้มยำที่ใส่กุ้งแม่น้ำตัวโตๆ มีมันมาก การใส่น้ำพริกเผาและหัวกะทิ เป็นการเสริมกลิ่นรสให้กลมกลืนกับมันกุ้ง น้ำซุปจึงดูข้นหรือขุ่นมีมันของกะทิ บางรายใส่นมสดแทน ผสมกับเนื้อน้ำพริกเผาชวนให้น่ากินขึ้น
ต้มโคล้ง เป็นต้มยำชนิดหนึ่งที่ต้องใช้พริกแห้งเผาจะเป็นพริกขี้หนูหรือพริกชี้ฟ้าก็ได้ ตามด้วยหอมแดงเผาพอสุกใส่เข้ากับเครื่องต้มยำปกติคือตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด ต้มโคล้งไม่นิยมใส่พริกขี้หนูสดและต้องต้มกับปลาย่าง ส่วนมากนิยมใช้ปลาเนื้ออ่อน ปลากด ปลากระทิง ปลาย่างที่นำมาต้มโคล้งควรเป็นปลาย่างรมควันค่อนข้างแห้ง และลักษณะของต้มโคล้งจะปรุงรสเปรี้ยวด้วยน้ำส้มมะขาม ซึ่งเข้ากันดีกับกลิ่นปลาย่าง พริกเผา หอมเผา